top of page
  • HBB

เมื่อการข่มขืนเป็นเครื่องมือการสลายการชุมนุมของรัฐบาลทหารซูดาน

ชัชชญา ฉัตรชุมสาย เรียบเรียง


กองกำลังทหารซูดานได้ข่มขืนผู้หญิงนับร้อยและผู้ชายนับสิบ ขณะสลายการชุมนุมผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา

แม้ว่าผู้บัญชาการจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ นาย คาลิด (นามสมมติ) ได้เล่าเหตุการณ์จริงที่เขาเจอกับสำนักข่าวบีบีซี ในวันที่ทหารลงมือข่มขืนประชาชน

คาลิดเล่าว่า ทหารเริ่มยิงกราดใส่ประชาชนในช่วงเช้าหลังจากการทำละหมาด เขารีบวิ่งเข้าไปในตึกที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อหลบกระสุนกับเพื่อนร่วมชุมนุม พวกเขาขึ้นไปหลบที่ชั้นบนและซ่อนตัวด้วยความหวาดกลัว หลังจากนั้นไม่นาน เด็กหนุ่มทั้งสองก็ได้ยินเสียงกรีดร้องของหญิงสาวตรงขั้นบันไดชั้นล่าง

"เราเห็นทหารหกคนกำลังรุมข่มขืนผู้หญิงสองคน” คาลิดกล่าว พวกเขาพยายามจะช่วยเพื่อนสาวสองคนนั้น จึงตะโกนไล่ทหารออกไป แต่ก็เจอทหารยิงสวนใส่

พวกเขาวิ่งหนีลงบันได และเมื่อกลับมาจุดเกิดเหตุอีกครั้ง จึงพบว่าทหารได้เดินจากไปแล้ว และทิ้งร่างกายอันบอบช้ำของเพื่อนผู้หญิงทั้งสองคนนั้นไว้ ทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว หรือ Rapid Support Force (RSF) ที่ชาวซูดานทราบกันในฉายา “จันจาวีต”



คาลิดและเพื่อน ๆ เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมที่นั่งปราศรัยด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบกในกรุงคาร์ทูม ซึ่งตั้งขนานกับมหาวิทยาลัยคาร์ทูมและแม่น้ำไนล์

การชุมนุมประท้วงของประชาชนก่อให้เกิดการทำรัฐประการของรัฐบาลนาย โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ที่ครองตำแหน่งประธานาธิบดีมานานกว่า 30 ปี ในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่ประชาชนก็ยังคงปักหลักเฝ้ารอหน้ากองบัญชาการเพื่อให้ทหารคืนอำนาจแก่ประชาชน

"พวกเพื่อนผู้หญิงร้องไห้และกรีดร้องไม่หยุด และสิ่งที่พวกผมทำได้คือแค่ปลอบใจ” คาลิดกล่าว

พวกเขาตัดสินใจพาเพื่อนผู้หญิงทั้งสองคนไปที่มัสยิด ที่ที่เขาหวังว่าเพื่อนจะปลอดภัยและได้รับการดูแล หลังจากนั้นคาลิดและเพื่อนผู้ชายก็พยายามหนีออกจากจุดเกิดเหตุ ซึ่งตอนนั้นครุกรุ่นไปด้วยแก๊สน้ำตาและเสียงกระสุนปืน แต่ในระหว่างทาง คาลิดก็ถูกพวกจันจาวีดจับคุมตัวอีก และด้วยความบังเอิญ ก็เผชิญหน้ากับนายทหารที่เพิ่งข่มขืนเพื่อนสาวทั้งสองคนของเขาเมื่อครู่นี้อีกครั้ง

"พวกเขาจับผมแก้ผ้า และพยายามจะข่มขืนผม ผมตะโกนให้คนช่วย และประมาณสามสี่นาทีให้หลัง ก็มีเสียงปืนดังตรงชั้นล่าง พวกทหารเลยเผ่นไป'" คาลิดได้โอกาสหนี แต่ระหว่างทางกลับบ้าน ก็ถูกพวกจันจาวีดรุมกระทืบอีก

การรายงานของสื่อเป็นไปอย่างลำบาก และไม่สามารถสรุปได้ว่าทหารจันจาวีตได้กระทำความชั่วช้าอะไรไว้บ้าง เนื่องจากกองกำลังทหารได้ตัดเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อีกทั้งผู้คนเองก็กลัวที่จะพูดความจริง

จากการประเมินของฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ยอดผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมอยู่ที่ประมาณ 100 ศพ และในจำนวนนั้นมีประมาณ 40 ศพที่ถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำไนล์ ส่วนจำนวนเหยื่อที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ไม่มีใครสามารถประเมินได้แน่ชัด แต่แหล่งข่าวอ้างว่าขณะที่กองกำลังจันจาวีดได้ลาดตระเวนเมือง พวกเขาก็ไม่หยุดข่มขืนประชาชน

อย่างไรก็ตาม สภาทหารเปลี่ยนผ่าน (Transitional Military Council) ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าทหารซูดานได้ข่มขืนกระทำชำเราประชาชน แม้ว่าสภาเองได้ยอมรับว่า มีการสั่งทหารให้สลายการชุมนุมจริง



นาง ซูไลมาล อิสชาค ชารีฟ หัวหน้าศูนย์รักษาผู้บาดเจ็บ มหาวิทยาลัยอาฟหาด กล่าวว่า เหตุที่ทหารข่มขืนประชาชน ไม่ใช่เพราะทหารต้องการสำเร็จความใคร่ แต่เพราะทหารปราถนาที่จะลดคุณค่าและเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ พร้อมทำลายจิตวิญญาณของผู้ชุมนุม

ซึ่งการกระทำอันเลวร้ายเหล่านี้ ประชาชนทราบดี เพราะจันจาวีดได้สร้างวีรกรรมเช่นนี้ไว้ในกรุงดาร์ฟูร์และอีกหลายแห่ง นางซูไลมาลทิ้งท้ายว่า การข่มขืนประชาชนคือเครื่องมือของการทำสงครามของทหาร เพื่อใช้ทำลายล้างขบวนการปฏิวัติให้ราบคาบ

คาลิดเองสารภาพว่า บาดแผลทางจิตใจของตนจากเหตุการณ์วันนั้น คงยากที่จะเยียวยากว่าบาดแผลที่ปรากฏบนร่างกาย

"ตอนอยู่บ้านคนเดียว ก็ร้องไห้ออกมา ทุกๆ ครั้งที่ผมเห็นทหารจันจาวีดเดินเตร่บนถนน ภาพเหตุการณ์วันนั้นก็หวนกลับคืนมาทุกครั้ง”

แต่คาลิดยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ตนเองเผชิญในวันนั้น “ผมอยากให้โลกรู้ความจริง รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทหารพูดเลย”

เรียบเรียงจาก

245 views0 comments
bottom of page