สิรินทร์ มุ่งเจริญ เรียบเรียง
ซินเจียง, สาธารณรัฐประชาชนจีน (CNN)
ห้องนอนห้องเล็กแห่งนี้ถูกหยุดเวลาเอาไว้ เด็กสาวตัวน้อยสองชีวิตที่เคยหลับนอนอยู่ในห้องแห่งนี้เดินทางออกไปเมื่อสองปีก่อนกับแม่ของพวกเธอ ขณะนี้พวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้
กระเป๋าเป้และสมุดจดของโรงเรียนยังคงวางรอพวกเธอกลับมา ตุ๊กตาหมีนอนอยู่บนเตียง เสื้อผ้าของพวกเธอถูกแขวนไว้อย่างเป็นระเบียบในตู้เสื้อผ้า
ยายของพวกเธอกล่าวว่า เธอไม่สามารถทำใจเปลี่ยนหรือขยับสิ่งของใด ๆ ภายในห้องนั้นได้
“เสื้อผ้าพวกนั้นยังมีกลิ่นของพวกเธอ” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ฟังให้เข้าใจได้ยากมาก เนื่องด้วยเสียงสะอึกสะอื้นอย่างหนักของเธอ
อันสิลา เอสเทน และ เนอร์สิลา เอสเทน อายุ 8 ปี และ 7 ปีตามลำดับ เดินทางออกจากบ้านของตนในเมืองอัลมาที ประเทศคาซัคสถาน พร้อมกับมารดา อดิบา ฮายรัต ในปี 2017
ทั้งสามคนเดินทางไปยังประเทศจีนตามที่อดิบาวางแผนไว้ว่าจะไปเรียนการแต่งหน้าและเยี่ยมพ่อแม่ของเธอในชายแดนทางตะวันตกของซินเจียง โดยทิ้งสามีของเธอ เอสเทน เออร์บอล และลูกชาย เนอร์เมเคน ที่ขณะนั้นอายุ 9 ปีไว้ที่คาซัคสถาน
อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากที่เธอไปถึงจีน เธอถูกกักตัว สามีของเธอไม่ได้รับการติดต่อจากเธอเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว
“ลูกชายของผมอายุไม่ถึงขวบด้วยซ้ำตอนที่เธอจากไป” เอสเทน เออร์บอล กล่าว “เวลาลูกชายของผมเจอผู้หญิงแถวบ้าน เขาจะเรียกพวกเธอว่าแม่ เพราะเขาไม่รู้ว่าแม่จริง ๆ ของตนหน้าตาเป็นอย่างไร”
อดิบา ฮายรัต และลูกสาวสองคนเป็นพลเมืองจีน โดยมีต้นตระกูลเป็นชาวคาซัคสถาน เธอและลูกสาวเติบโตขึ้นในประเทศจีน ส่วนลูกชายเกิดที่เมืองอัลมาตี
ครอบครัวดังกล่าวอยู่ในกระบวนการเป็นพลเมืองคาซัคสถานเมื่อเอสเทน เออร์บอล บอกว่าอดิบา ฮายรัต ถูกจับตัวไปโดยทางการจีน
.
ครอบครัวของเธอในคาซัคสถานบอกว่าเธอถูกจับกุมตัวไว้ในค่ายกักกันแห่งหนึ่งในซินเจียงเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ขณะที่ลูก ๆ ของเธอถูกส่งไปอยู่กับญาติห่าง ๆ
ครอบครัวของเธอบอกต่อว่า เธอถูกปล่อยตัวหลังจากนั้น แต่ปัจจุบันอดิบา ฮายรัต อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเธอและทำงานอยู่ในสถานที่บังคับใช้แรงงาน ได้รับค่าแรงน้อยนิด และไม่สามารถติดต่อครอบครัวในคาซัคสถานได้เนื่องจากกลัวว่าจะถูกส่งกลับไปยังค่ายกักกัน
.
อ้างอิงจากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: ชาวอุยกูร์ คาซัค คีร์กิส และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่น ๆ รวมกว่าสองล้านคนถูกกักขังตัวที่ค่ายขนาดใหญ่ในเมืองซินเจียง
ผู้คนจำนวนมากกำลังทำงานอยู่ในที่ที่กลุ่มเรียกร้องสิทธิเรียกว่าสถานที่บังคับใช้แรงงาน และเหมือนกับอดิบา พวกเขาไม่สามารถออกจากประเทศจีนได้
นักเคลื่อนไหวและอดีตผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนอ้างว่าค่ายที่ซินเจียงสร้างเสร็จอย่างรวดเร็วในสามปีที่ผ่านมา เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำลายชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในบริเวณนั้น
มีคำกล่าวอ้างจำนวนมากบอกว่ามีการทรมานร่างกายภายในค่ายเหล่านั้น รวมถึงคำรายงานจากอดีตผู้ถูกควบคุมตัวที่บอกกับซีเอ็นเอ็น รัฐบาลจีนกำลังเผชิญกับคำวิจารณ์ที่โหมกระหน่ำจากนานาชาติเรื่องนโยบายเมืองซินเจียง
นักวิจารณ์อ้างว่าค่ายเหล่านี้คือความพยายามของปักกิ่งในการกำจัดวัฒนธรรมและประเพณีทางศาสนาของชาวอิสลามในภูมิภาค เป็นกระบวนการทำให้เป็นจีนอย่างหนึ่ง ซึ่งชนกลุ่มน้อยถูกบังคับให้กลืนกลายไปกับวัฒนธรรมจีนฮั่นซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลัก
ปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการปลูกฝังทางการเมือง และกล่าวว่าค่ายต่าง ๆ เป็น “ศูนย์ฝึกฝนอาชีพ” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย
ถึงแม้ว่าคุณอาจจะเชื่อคำอธิบายดังกล่าว เอสเทน เออร์บอล ก็กล่าวว่า คำอธิบายนี้ไม่สามารถใช้ได้กับภรรยาของเขา เขากล่าวว่า “ภรรยาของผมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย”
หลังจากการกักขังตัวของอดิบาสิ้นสุดลง เอสเทน เออร์บอล กล่าวว่าเพื่อนคนหนึ่งในบริเวณนั้นบอกเขาว่า ภรรยาของเขาได้รับการอนุญาตให้อาศัยอยู่กับพ่อแม่และลูก ๆ ของเธอในระหว่างที่เธอทำงานที่ศูนย์บังคับใช้แรงงาน
กลุ่มเรียกร้องสิทธิหลายกลุ่มในคาซัคสถานกล่าวว่าอดีตผู้ถูกกักขังหลายคนถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้ทำงานในสถานที่เช่นนั้น เพื่อคงสภาพการควบคุมพฤติกรรมของอดีตผู้ถูกกักขัง
ร่างกฎหมายหนึ่งของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมกล่าวว่า มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า ผู้ถูกควบคุมตัวถูกบังคับให้ผลิตของใช้ราคาถูกในศูนย์บังคับใช้แรงงานด้วยคำขู่ว่าจะถูกส่งตัวกลับไปยังศูนย์กักกัน
เอสเทน เออร์บอลกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ยึดหนังสือเดินทางของภรรยาของเขาไป เธอและลูก ๆ จึงไม่สามารถเดินทางกลับมายังคาซัคสถานได้
การรอคอยคือความทรมาน เขาไม่มีช่องทางในการติดต่อเธอโดยตรง และกลัวว่าหากเขาเดินทางไปยังซินเจียงเพื่อตามหาตัวเธอ เขาอาจถูกจับตัวไปยังค่ายกักกันด้วยเช่นกัน
.
กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้ให้ความเห็นเมื่อถูกถามถึงคำกล่าวหาเรื่องการกักตัวของเธอ หรือว่าเธอกำลังถูกบังคับให้ทำงานในสถานที่บังคับใช้แรงงานแห่งหนึ่งหรือไม่ .
แปลและตัดทอนบางส่วนจาก https://edition.cnn.com/2019/05/08/asia/uyghur-xinjiang-china-kashgar-intl/index.html
Comments