top of page
HBB

ชุมนุมโค่นล้มเผด็จการเก่า แต่ได้ผู้นำเผด็จการใหม่ที่สืบทอดอำนาจจากเผด็จการเดิม

ชัชชญา ฉัตรชุมสาย เรียบเรียง


พลโท โมฮัมเหม็ด แฮมดัน หรือที่ทราบกันในนาม เฮเมติ ผู้นำกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces) หน่วยเสริมกองกำลังทหารที่ใช้ความรุนแรงขับไล่ผู้ชุมนุมในวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา (ภาพโดย Declan Walsh / The New York Times)


หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดาร์ฟูร์ ซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันตกของซูดาน พลโท โมฮัมเหม็ด แฮมดัน อดีตพ่อค้าอูฐที่ผันตัวมาเป็นผู้นำทหารบก ตอนนี้ได้ครองอำนาจสูงสุดในประเทศซูดาน ทว่าผู้ประท้วงต่างเล่าตรงกันว่ากองทัพได้ใช้กำลังทหารวางเพลิงเต็นท์ ไล่ฆ่าสังหารหมู่ ข่มขืนผู้ชุมนุม พร้อมโยนซากศพของพวกเขาทิ้งลงแม่น้ำไนล์

การนองเลือดครั้งนี้แสดงถึงการรวบอำนาจของพลโท โมฮัมเหม็ด แฮมดัน หรือที่ทราบกันในนาม เฮเมติ ซึ่งตอนนี้คนส่วนมากคาดว่าคือผู้ปกครองของประเทศซูดานทางพฤตินัย แต่สำหรับชาวซูดานเอง การยึดอำนาจของเฮเมติสะท้อนถึงความเป็นจริงอันน่าหดหู่ เพราะแม้ว่าประชาชนได้ขับไล่เผด็จการสำเร็จในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ระบอบเผด็จการก็ยังคงดำรงอยู่เพื่อปกป้องอำนาจของรัฐบาลเก่า

“เราเคยคาดการณ์ไว้ว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้น” นางสาว อาลา ซาลา วัย 22 ปีกล่าว “เฮเมติได้เผาทำลายเมืองดาร์ฟูร์ และตอนนี้คาร์ทูม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของซูดาน ก็กำลังประสบชะตากรรมเดียวกับดาร์ฟูร์”

.

แฮมดันเป็นผู้นำกองกำลังในรัฐบาลประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ผู้ปกครองประเทศซูดานภายใต้ระบอบเผด็จการเป็นเวลาอันยาวนานนับ 30 ปี

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้ลงถนนเพื่อขับไล่เผด็จการ และพร้อมใจกันเรียกร้องให้มีการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลอัล-บาเชียร์ กองทัพของเฮเมติจึงตอบสนองและดำเนินการโค่นล้มเผด็จการตามคำเรียกร้องของประชาชน

แม้ทหารจะยึดอำนาจประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์แล้วก็ตาม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว พร้อมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่รัฐบาลพลเรือนโดยทันที ทว่า เหล่านายพลผู้ทำการปฏิวัติปฏิเสธที่จะถอย

ในวันที่ 3 มิถุนายน หลังจากการเจรจาแบ่งอำนาจยืดเยื้อระหว่างทหารและพลเรือน แฮมดันได้ทอดทิ้งประชาชนของเขาเสีย โดยสั่งกองกำลังสนับสนุนฉับพลัน (Rapid Support Forces) ให้ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง

ล่าสุด แพทย์ในประเทศซูดานรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ที่ 118 ศพ

นาย โดนัลด์ บลูธ อดีตทูตชาวอเมริกันประจำประเทศซูดาน ได้เรียกร้องให้กองทัพถอนกำลังจากเมืองคาร์ทูม และยุติการปิดโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้ประเทศซูดานถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

แม้ประชาคมโลกกำลังกดดันให้พลโท แฮมดัน ยุติเหตุการณ์รุนแรงและคุกคามผู้ชุมนุมในประเทศตน เขาก็ยังยืนกรานว่าตนเองคือผู้กอบกู้ชาติ และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา รวมทั้งการสังหารหมู่ประชาชน เขาขอร้องให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรอผลการสืบสวนจากกองทัพ ที่จะบอกถึงสาเหตุการสลายการชุมนุม

นอกจากนี้พลโท แฮมดันยังกล่าวโทษกลุ่มผู้ประท้วง ว่ามีพฤติกรรมยั่วยุ ปลุกเร้าให้ทหารใช้ความรุนแรง เช่น มีผู้ประท้วงชายคนหนึ่งควักอวัยวะเพศออกมาจากกางเกง และแกว่งมันเพื่อเย้ยทหารที่กำลังขับรถยนต์ผ่าน ซึ่งเฮเมติถือว่ามันเป็นการกระทำอันเลวร้าย

หลังจากการกวาดล้างการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ประชาชนต่างให้ฉายากองทหารของพลโท แฮมดัน ว่าพวก “จันจาวีด” ซึ่งเป็นชื่อที่เคยใช้เรียกกองกำลังอาหรับที่คุกคามชาวแอฟริกันที่อาศัยในกรุงดาร์ฟูร์ในช่วงปี 2000

ซึ่งตัวพลโท แฮมดันเองก็ดูเหมือนจะไม่พอใจกับฉายาที่ประชาชนตั้งให้เสียเท่าไหร่นัก และกล่าวว่านี่เป็นเพียงวาทะกรรมของพวกฝั่งที่ต่อต้านตน

.

แม้ว่าทางรัฐบาลทหารของเฮเมติ จะพยายามป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกฝ่ายฝักใฝ่ประชาธิปไตยหัวรุนแรง แต่หลักฐานที่ทางทหารยึดมาได้หลังจากการสลายการชุมนุม ดูเหมือนจะขัดกับความเป็นจริง เช่น ดาบ ปืนสั้นเก่าๆ ตะบอง เหล้าเถื่อนที่เหลืออยู่ครึ่งขวด กัญชา และถุงยาง

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังจำนวน 300 กว่าคน สภาพทุกคนถูกบังคับให้เดินเท้าเปล่า ใส่เสื้อผ้าสกปรก และหวาดกลัวจนไม่กล้าสบตาหรือคุยกับนักข่าว

สื่อของซูดานขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหาร ข่าวสารจึงออกแนวชวนเชื่อ ทางด้านผู้ชุมนุมเอง เนื่องจากอินเตอร์เน็ตถูกตัด จึงไม่สามารถเผยแพร่หลักฐานที่พิสูจน์ถึงความโหดเหี้ยมของทหารซูดาน

อนึ่ง ทางศูนย์ดูแลผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ได้รายงานว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 15 คนที่ถูกทหารข่มขืนกระทำชำเรา และคาดว่ายังมีผู้หญิงอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกทหารใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด ขณะถูกกักขังในเรือนจำ

แม้กระนั้น เฮเมติก็ยืนกรานว่าคำกล่าวหาทั้งหมดเป็นเท็จ และเป็นวาทะกรรมเพื่อสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนต่อพลทหาร และเขากล่าวอีกว่า อำนาจที่เขาได้มานั้นมาจากประชาชนโดยแท้จริง

อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวรายงานว่า กลุ่มนายพลบางกลุ่มแสดงความไม่พอใจต่อนิสัยของเฮเมติ และมีคนพยายามจะโค้นล้มอำนาจเขา แต่ตอนนี้คาดว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะการโค่นล้มเฮเมติ ต้องอาศัยกองกำลังทหารจำนวนมาก และมันอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง

ที่สำคัญคือ เหล่านายพลในกองทัพต่างคือผู้ได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ และอำนาจภายใต้ระบอบเผด็จการของอดีตประธาธิบดี อัล-บาเชียร์ ดังนั้นการทำรัฐประหารจึงไม่ใช่แค่การสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่เป็นการรวบรัดเอาผลประโยชน์ทางการเงิน ที่ทางทหารเองไม่สามารถปล่อยคืนสู่มือประชาชน เนื่องจากเคยชินกับการคอร์รัปชั่นบ้านเมือง


เรียบเรียงจาก

62 views0 comments

Comments


bottom of page