top of page
  • HBB

เทพธิดาแห่งประชาธิปไตย: โล่รางวัลที่โลกมอบให้เพลง “ประเทศกูมี” - คอยหลอกหลอนผู้นำเผด็จการอำนาจนิยม


เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เรียบเรียง

ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล แก้ไขเพิ่มเติม



ล่าสุด เพลง “ประเทศกูมี” เพลงที่รัฐบาลไทยเคยกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ผิดกฎหมาย และเกือบจะถูกแบนไม่ให้เผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมานั้น ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ “รางวัลวาคลาฟ ฮาเวล” ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินทั่วโลกผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อการต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนผู้สร้างสรรค์เพลง “ประเทศกูมี” ขึ้นเวทีสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่ประเทศนอร์เวย์ และกล่าวสุนทรพจน์มีใจความส่วนหนึ่งว่า “ความสำเร็จของเพลงแสดงให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากไม่ยอมก้มหัวต่ออำนาจความอยุติธรรม และต้องการแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อความเป็นเผด็จการของรัฐบาลทหารในประเทศ” เขากล่าวต่ออย่างมีความหวังว่า “ผลตอบรับต่อเพลงนี้ทำให้เห็นถึงความหวังของคนรุ่นใหม่ที่กำลังไม่ยินยอมต่ออำนาจและกำลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย”

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจและเป็นที่สะดุดตาระหว่างการขึ้นรับรางวัลของพวกเขาก็คือ “โล่รางวัล (Trophy)” ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้หญิงยืนถือคบเพลิงอย่างเด็ดเดี่ยว โดยผู้เชิญรางวัลกล่าวว่าโล่รางวัลนี้เป็นการหล่อเสมือน “เทพธิดาประชาธิปไตย (Goddess of Democracy)” อนุสาวรีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในจีน ซึ่งสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 1989 และถูกทำลายลงโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจากเหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน 1989

. เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน 1989 หรือที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นเหตุการณ์ “การสังหารหมู่เทียนอันเหมิน” ในเหตุการณ์ดังกล่าว มีนักศึกษาและประชาชนจีนจำนวนมากถูกฆ่าตายอย่างอำมหิตโดยรัฐบาลจีน และตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนพยายามปกปิดข้อมูลความอำมหิตของการปราบปรามผู้ชุมนุมในหลาย ๆ วิถีทาง สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนเลือกทำก็คือ ปิดกั้นไม่ให้คนจีนเข้าถึงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ผ่านการใช้โปรแกรมค้นหา (Search Engine) โดยการบล็อกการค้นหาคำหลายคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ในช่วงหนึ่ง รัฐบาลจีนถึงขนาดบล็อกการค้นหาตัวเลข 4 เลข 8 และเลข 9 เพื่อป้องกันไม่ให้คนจีนค้นหาข้อมูลหรือตั้งคำถามต่อรัฐบาลกรณีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

มีสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งต้องห้ามในการค้นหา และเป็นสิ่งที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจไม่น้อย หากเราพิจารณาภาพการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาจีนก่อนการสลายการชุมนุม เราจะพบว่ามีสิ่งหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่ สิ่งนี้คือ อนุสาวรีย์ที่มีความสูง 33 ฟุต ตั้งวางเผชิญหน้ากับภาพของเหมา เจ๋อตงที่ติดอยู่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมือทั้งสองของอนุสาวรีย์ถือคบเพลิงอันหนึ่ง อนุสาวรีย์นี้มีชื่อว่า “เทพธิดาแห่งประชาธิปไตย”



เทพธิดาแห่งประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพของนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนจีนบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน สร้างขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมและเพื่อสดุดีการอดอาหารประท้วงของนักศึกษาและปัญญาชนในตอนนั้น โดยการชุมนุมบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประเทศเป็นประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดยเหล่านักศึกษาจากแปดสถาบันทางด้านการศิลปกรรมและการแสดง พวกเขาทั้งแปดสถาบันร่วมกันสร้างทำให้ใช้เวลาเพียงสามวันก็เสร็จสมบูรณ์ พวกเขาใช้เปเปอร์มาเช่ ปูนปลาสเตอร์ และโครงสร้างเหล็กเป็นวัสดุเริ่มต้น พวกเขาใช้ตัวแบบเป็นผู้ชายถือไม้ค้ำยัน แล้วจึงดัดแปลงแก้ไขให้เป็นผู้หญิง โดยเปลี่ยนโครงหน้าให้มีความเป็นผู้หญิง เพิ่มขนาดหน้าอก สวมเสื้อผ้ามากขึ้น และตัดส่วนไม้ค้ำยันนั้นออก แล้วจึงเพิ่มตัวคบเพลิงเข้าไป

เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์จากสถานที่ผลิตไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมินได้ พวกเขาจึงสร้างแบบเป็นหลาย ๆ ส่วน แล้วจึงนำมาประกอบรวมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่ออนุสาวรีย์ประกอบสำเร็จ ผู้ร่วมชุมนุมต่างตื่นตาตื่นใจ และเข้ามาดูผลงานกันมากมาย โดยในวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้หญิงคนหนึ่งออกมาอ่านประกาศต่อหน้าอนุสาวรีย์ที่เพิ่งจะประกอบเสร็จว่า

“จิตวิญญาณของประชาธิปไตยคือ สิ่งที่คนที่ถูกกดขี่ภายใต้ระบอบเผด็จการล้วนถวิลหา…, โอ้ จิตวิญญาณของประชาธิปไตย เจ้าคือความหวังที่จะทำให้ชาติจีนรอดต่อไปได้…, โอ้ จิตวิญญาณของประชาธิปไตย เจ้าคือจิตวิญญาณของขบวนการประชาธิปไตยเทียนอันเหมิน 1989”

.

แน่นอนว่า พวกฝ่ายเผด็จการย่อมอดรนทนไม่ได้ เมื่อนักศึกษาดูจะก้าวล่วงอำนาจของเขามากเกินไป การสร้างอนุสาวรีย์เป็นเสมือนการสถาปนาจิตวิญญาณใหม่ให้มาแทนที่การเคารพจิตวิญญาณแบบคอมมิวนิสต์และการเคารพคัมภีร์ลัทธิเหมา การเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้นำเผด็จการมีความรู้สึกที่จะต้องปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินนี้

หลังจากอนุสาวรีย์ประกอบเสร็จสิ้นเพียงห้าวัน เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน 1989 ก็เกิดขึ้น และหนึ่งในเป้าหมายแรก ๆ ของการปราบปรามโดยใช้กำลังอาวุธและรถถังก็คือการทำลายเทพธิดาแห่งประชาธิปไตยนี้ลง การใช้กำลังทหารเข้าไปบีบล้อมพื้นที่การชุมนุมนั้นส่วนหนึ่งมาจากคำสั่งของผู้นำเผด็จการที่ต้องการกำจัดอนุสาวรีย์นี้อันเป็นจิตวิญญาณของ “ผู้ก่อความไม่สงบ” ต่อระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศ โดย จาง ตงซู แม่ทัพคนหนึ่งในกองทัพปลดแอกประชาชนเล่าไว้ว่า "เราใช้เหล็กทุบอนุสาวรีย์หลายครั้งจนเราเจ็บมือมาก เราเขยิบตามองจนแน่ใจว่าหัวของรูปปั้นเลอะเทอะและเสียหายจนไม่อาจสามารถเข้าใจความหมายได้แล้ว"

แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาสามสิบปี และอนุสาวรีย์ต้นฉบับก็ถูกทำลายลงแล้ว แต่เทพธิดาแห่งประชาธิปไตยยังคงติดตามหลอกหลอนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนไม่หยุดหย่อน ทั้งการพยายามค้นหาข้อมูลเหตุการณ์ดังกล่าวโดยคนจีนในแผ่นดินจีน การพยายามสร้างอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นนี้ขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อย ๆ การนำไปตั้งในพื้นที่สาธารณะ เช่น ในฮ่องกง ไต้หวัน โคลอมเบีย แคนาดา และหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดคือการนำไปหล่อเป็นรางวัลเพื่อมอบให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านความอยุติธรรมของเวทีสิทธิมนุษยชนระดับโลก จะเห็นได้ว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แทบทุกครั้งที่มีกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่เทียนอันเหมิน หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจความอยุติธรรม เราจะพบเทพธิดาแห่งประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ประกอบกิจกรรมนั้นอยู่เสมอ




อ้างอิง

53 views0 comments
bottom of page