top of page
  • HBB

เล่น WeChat มีสิทธิเข้าค่ายปรับทัศนคติ: เมื่อจีนอ้างความหวังดีล่วงล้ำการสื่อสารของกลุ่มชาติพันธุ์

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เรียบเรียง

ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล แก้ไขเพิ่มเติม

“สังคมที่ไม่มีเสรีภาพทางความคิด ย่อมไม่มีพื้นที่สาธารณะให้แสดงความคิดเห็น” ดังนั้น ในสังคมดังกล่าว สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) จะเป็นพื้นที่การสื่อสารที่ทรงพลังให้คนในสังคมร่วมคิดร่วมพูดระหว่างกัน .

ในประเทศจีน แม้แต่การสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ก็ยังไม่มีเสรีภาพและไม่มีความปลอดภัย รัฐบาลจีนปิดกั้นการค้นหาข้อมูลคำสำคัญหลายคำ เช่น คำว่า “หมีพูห์” ซึ่งหมายถึง สีจิ้นผิง หรือแม้แต่ตัวเลข 1989 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์การสังหารหมู่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก็ถูกบล็อคไม่ให้คนในจีนค้นหาเช่นเดียวกัน ดังนั้น คนจีนจึงหันมาใช้แอปพลิเคชันสื่อสารกันส่วนตัวซึ่งน่าจะดูปลอดภัยและมีเสรีภาพมากกว่า


ด้วยเหตุนี้ แอปพลิเคชันสื่อสารชื่อดังอย่าง WeChat จึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในจีน (คล้ายกับแอปพลิเคชัน Line ที่เป็นที่นิยมในไทย) .

WeChat เป็นแอปพลิเคชันที่ผลิตโดยบริษัท Tencent holdings นอกจากนั้นยังเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ที่ซินเจียง (มณฑลทางตะวันตกสุดของจีน) ในชื่อว่า Undidar .

Aziz Isa นักวิชาการอุยกูร์ ร่วมกับ Rachel Harris ศึกษาการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ของกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ พวกเขากล่าวว่า “การใช้งานแอปพลิเคชันนี้เป็นช่วงเวลาที่คนอุยกูร์ได้ผ่อนคลายและได้สัมผัสถึงเสรีภาพของตนเอง” “ชีวิตของคนอุยกูร์ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะนี้” .

คนอุยกูร์ก็เหมือนกับกลุ่มคนอื่น ๆ พวกเขามีความเป็นครอบครัว มีสังคม มีกิจวัตรปฏิบัติทางศาสนา มีการส่งข้อความถามสารทุกข์สุกดิบตามธรรมเนียมนิยม เช่น การส่งข้อความสวัสดี หรือการทักทายแบบศาสนา (อิสลามาเลกุล - สวัสดี, อินชาอัลเลาะห์ - ตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า) พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กันเช่นนี้โดยธรรมชาติของสังคม .

และเนื่องด้วยชาวอุยกูร์มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง มีภาษาเป็นของตัวเอง และไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์จีน ประกอบกับชาวอุยกูร์เพิ่งจะถูกผนวกรวมกับประเทศจีนเมื่อสมัยราชวงศ์ชิง ทำให้คนอุยกูร์มีแรงปรารถนาและมีสำนึกของความเป็นชาติภายในกลุ่มตนเองสูง ประกอบกับการบีบบังคับของจีน ภายใต้แนวคิดการทำให้เป็นคอมมิวนิสต์จีนผสมกับลัทธิชาตินิยมของจีน ทำให้คนอุยกูร์หลายคนต่อต้านการกลืนกินวัฒนธรรมของคนอุยกูร์จากจีน .

ทว่าอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือกว่าอำนาจของคนอุยกูร์ จีนไม่ผ่อนปรนหรือพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจใด ๆ กับคนอุยกูร์ จีนใช้อำนาจของตนเองเข้าไปทำลายวัฒนธรรมของคนอุยกูร์ โดยค่อย ๆ ออกนโยบายกดดันและคลืบคลานเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย .

ในปี 2014 รัฐบาลจีนมีอำนาจเจาะข้อมูลการสื่อสารส่วนตัวภายในแอปพลิเคชัน WeChat โดยอ้างว่า กระทำการเจาะข้อมูลเพื่อตรวจสอบ “การใช้งานในทางที่ผิด” เช่น การส่งข่าวเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง การก่อการร้าย และภาพลามกอนาจาร เป็นต้น ทว่าการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนโดยรัฐบาลผู้อ้างความหวังดี รังแต่จะส่งผลให้เสรีภาพของประชาชนถูกบดขยี้ลงไป .

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลจีนต้องการให้ชาวอุยกูร์สยบยอมกับอำนาจและค่านิยมของจีน รัฐบาลจีนออกนโยบายการเกณฑ์คนอุยกูร์ให้เข้ารับราชการเป็นตำรวจของรัฐ อีกทั้งยังจับกุมตัวคนอุยกูร์ที่มีพฤติกรรมที่จีนไม่พึงประสงค์ เช่นผู้ที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (เช่น ละหมาด) ให้เข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน หรือที่จีนอ้างว่าเป็นค่ายให้การศึกษาใหม่ (Re-education Camp) ในระยะหลัง พฤติกรรมที่จีนไม่ต้องการให้คนอุยกูร์ประพฤติก็มีมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ทั้งการห้ามไม่ให้มีสัญลักษณ์ที่ผูกติดกับศาสนาอิสลามบนร่างกาย การห้ามไม่ให้ไว้หมวดเคราของผู้ชาย การห้ามทักทายกันด้วยคำทางศาสนา และการห้ามติดต่อกับญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย โดยคนอุยกูร์คนใดที่มีข้อมูลเบอร์โทรศัพท์หรือมีประวัติการสื่อสารกับนักวิชาการหรือคนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อผ่าน WeChat จะถูกจับเข้าค่ายกักกัน .

Citizen Lab มหาวิทยาลัยโทรอนโท แคนาดา ระบุว่า วิธีการที่รัฐบาลจีนใช้ตรวจสอบเพ่งเล็งการใช้งาน WeChat คือการตรวจสอบผ่านการใช้คำสำคัญต่าง ๆ เช่น “การจราจลที่อุรุมชีปี 2009” “การจราจลที่คาซการ์ปี 2012” หรือคำสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม


Kalbinur Tursun หญิงชาวอุยกูร์วัย 35 ปีต้องลี้ภัยจากซินเจียงไปอยู่ตุรกีพร้อมกับลูกคนเล็กสุดของเธอ โดยทิ้งสามีและลูกที่เหลืออีกหกคนที่ซินเจียง เนื่องจากเธอกังวลว่าเธอจะถูกรัฐบาลจีน “บังคับให้ทำแท้ง” ลูกคนที่เจ็ดด้วยเหตุที่เธอมีลูกเกินจำนวนที่รัฐบาลจีนกำหนด หลังจากเธอลี้ภัยไปอยู่ที่ตุรกี เธอติดต่อสามีและลูกทุกวันผ่าน WeChat ทว่าผ่านไปไม่นาน สามีเธอก็ขาดการติดต่อ และเธอทราบจากเพื่อนในภายหลังว่าเขาถูกจำคุก 10 ปี จากการที่เธอลี้ภัยไปอยู่ตุรกี .

ปัจจุบัน การใช้งาน WeChat ของคนอุยกูร์ยังคงมีอยู่ แต่เป็นไปด้วยความซับซ้อน เช่น หากต้องการส่งข่าวว่าใครคนหนึ่งถูกจับกุม พวกเขาจะใช้สัญลักษณ์เป็นดอกกุหลาบที่เหี่ยวเฉา หรือถ้าส่งรูปพระจันทร์มืดก็หมายความว่า พวกเขาอยู่ในค่ายกักกัน หรือถ้าส่งรูปพระอาทิตย์ก็หมายความว่า ฉันยังมีชีวิตอยู่ หรือถ้าส่งรูปดอกไม้ก็หมายความว่า ฉันถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว เป็นต้น .

40 views0 comments
bottom of page